
คุณเคยมั๊ย! ตื่นเช้ามาในแต่ละวันนับจากวันที่ออกก้าวเดินบนเส้นทางการเป็นเจ้าของธุรกิจของตัวเอง ต้องสับสนวุ่นวายเกี่ยกับรายจ่ายต่างๆ ที่มันไหลเข้ามาเหมือนเขื่อนแตก วันๆ ต้องวิ่งวุ่นหาเงินซึ่งอันที่จริงคงต้องเรียกว่าทุนของตัวเองมาให้เพียงพอกับการจ่ายชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ
ทุกบาททุกสตางค์ที่ต้องจ่ายไปสร้างความหนักใจให้กับผู้ประกอบการไม่น้อย แต่รายจ่ายสำคัญเกี่ยวกับสำนักงาน สามารถประหยัดได้ง่ายๆ โดยการใช้บ้านตัวเองเป็นสำนักงานไปในตัว ทำให้ประหยัดเกี่ยวกับเรื่องนี้และนำเงินที่มีมาต่ออายุธุรกิจไปได้อีกนานเลย แต่ก่อนตัดสินใจใช้บ้านเป็นสำนักงานมีเรื่องต้องรู้มากมายเพื่อไม่ให้โดนเช็คบิลภายหลัง เช่น
1. การใช้บ้านเป็นสำนักงาน ต้องแยกพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่งานให้ชัดเจน
เรื่องการแยกพื้นที่ ไม่ได้หมายถึงการกั้นห้องสำหรับเป็นสำนักงาน หรือกั้นห้องสำหรับส่วนพักอาศัยเพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมไปถึงการแบ่งเวลาทำงาน กับ เวลาที่ต้องให้ครอบครัวออกจากกันให้ชัดเจน
เพราะการใช้บ้านเป็นสำนักงานเท่ากับเราสามารถทำงานได้ตลอดเวลาที่สะดวก ไม่ใช่เพียง 8 โมงเช้า ถึง 6โมงเย็นเท่านั้น เพราะจากการที่ไม่ต้องเดินทางทำให้เรานึกอยากทำอะไรก็สามารถแวะไปยังที่ทำงานที่อยู่ในบ้านเราได้ตลอด อาจจะทำให้ลืมเวลาที่ต้องให้ครอบครัว เพราะมัวดื่มด่ำกันงานอันเป็นที่รักโดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจที่ต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่
ไม่ต้องถึงกับกำหนดเวลาว่าต้องทำงานตอนไหน อยู่กับครอบครัวตอนไหนหรอกเพราะอุตส่าห์ใช้บ้านเป็นที่ทำงานแล้ว แค่แบ่งเวลาจัดสรรเวลาให้ถูก งาน ความสำเร็จ และครอบครัวจะได้ไปด้วยกันได้ ไม่ใช่พอถึงเวลาแห่งความสำเร็จเหลียวกับมามองข้างหลังไม่เหลือใครเลย
2. การใช้บ้านเป็นสำนักงาน จะให้ใช้ฟรีหรือให้เช่า
ฟรี หรือไม่ฟรี ดีต่อใจ เป็นประโยชน์ต่อกิจการทั้งหมด แต่ต้องมาเปรียบเทียบเลือกวิธีการเหมาะสมกับตัวเอง และธุรกิจ เพราะ
- การให้ใช้บ้านเป็นสำนักงานฟรี เท่ากับ บริษัทก็ไม่มีรายจ่าย เจ้าของบ้านก็ไม่มีรายได้จากการให้เช่า หากบริษัทอยู่ในช่วงที่ยังไม่มีกำไร การไม่คิดค่าเช่าก็ถือว่าไม่กระทบกับบริษัทมากนัก
- การให้เช่าบ้านเป็นสำนักงาน แบบนี้ บริษัทสามารถนำค่าเช่าไปหักรายจ่ายได้ แต่เจ้าของบ้านก็มีรายได้จากการให้เช่า ก็ต้องเปรียบเทียบดูว่าภาษีที่ผู้ให้เช่าต้องเสีย กับ ภาษีที่บริษัทประหยัดได้อย่างไหนดีกว่ากัน
3. การใช้บ้านเป็นสำนักงาน ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า ฯลฯ หักเป็นรายจ่ายได้
บ้านเช่าหรือไม่เช่าก็ว่ากันไป แต่ที่แน่ๆ นอกเหนือจากค่าเช่า บริษัทคงต้องรับภาระค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากสำนักงานได้
ไม่ว่าจะเป็นอาคารที่เช่า หรือให้ใช้ฟรี รายจ่ายเกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากอาคารในเชิงธุรกิจและเกี่ยวข้องกับกิจการ หากมีหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น
- เช็ค A/C Payee Only ระบุชื่อผู้ให้บริการ ขีดฆ่าหรือผู้ถือ
- หลักฐานการโอนเงินให้กับผู้ให้บริการ
- ใบเสร็จรับเงิน
สามารถนำมารายจ่ายต่างๆ ที่กิจการชำระไปมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการได้
โดยสัญญาให้ใช้ทรัพย์สิน หรือสัญญาเช่า ระบุให้ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่นค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ต่างๆ เหล่านี้ ผู้ใช้ หรือผู้เช่า เป็นผู้รับผิดชอบ
แต่หากบ้านที่จะใช้เป็นสำนักงานถูกใช้เป็นบ้านอยู่อาศัยด้วย เท่ากับว่า ค่าน้ำ, ค่าไฟ และอื่นๆ ถูกใช้ร่วมกันระหว่างส่วนที่เป็นที่อยู่อาศัยกับส่วนที่เป็นสำนักงาน เพื่อความโปร่งใสอาจจะต้องกำหนดสัดส่วนการใช้ไฟฟ้า ประปา และอื่น ๆ ที่ใช้ร่วมกันให้ชัดเจน โดยสามารถนำเฉพาะส่วนที่เป็นของกิจการมาหักเป็นรายจ่ายของกิจการได้ ส่วนที่ใช้ส่วนตัวไม่สามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้
4. การใช้บ้านเป็นสำนักงาน ขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้
หากท่านเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเป็นผู้ขอใช้บริการไฟฟ้า ประปา จะสามารถขอคืนภาษีซื้อจากค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และรายจ่ายอื่นๆ ได้ แต่หากเจ้าของอาคารเป็นผู้ขอใช้บริการไฟฟ้า ประปา ใบกำกับภาษีระบุจะชื่อเจ้าของอาคารผู้ขอใช้บริการ ทำให้ไม่สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าไฟฟ้า และค่าน้ำประปาได้ รวมถึงไม่สามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีมาขอคืนได้
หากเสียดายอยากขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ทำได้ง่าย ๆ โดย ติดต่อกับการไฟฟ้า หรือการประปา ขอเพิ่มชื่อของบริษัทในใบกำกับภาษี โดยเพิ่มข้อความดังนี้
“จ่ายชำระค่าบริการโดย บริษัท ....”
แต่ไม่ว่าจะระบุข้อความในใบกำกับภาษีข้างต้น หรือเป็นกรณีที่บริษัทเป็นผู้ขอใช้ ไฟฟ้า ประปา แม้จะได้รับใบกำกับภาษีในชื่อบริษัทโดยตรง ก็ใช่ว่าจะขอคืนได้ เพราะไฟฟ้า และประปา ได้ทั้งหมด เพราะไฟฟ้า และประปาถูกนำไปใช้ประโยชน์ในครอบครัวด้วย เท่ากับว่ามีภาษีซื้อที่ไม่เกี่ยวข้องกับกิจการปนเปื้อนอยู่ งานนี้ก็ยังคงขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้อยู่ได้
หากเสียดายภาษี คิดจะขอคืน คงต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการเป็นผู้ให้บริการไฟฟ้า ประปาไปด้วย เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากการขายไฟฟ้า ประปา ให้กับเจ้าของบ้านด้วย คราวนี้ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) จากค่าไฟฟ้า และประปาที่จ่ายไปก็เกี่ยวข้องกับกิจการละ ถ้าอ่านแล้วงงก็อ่านใหม่อีกทีจะได้หายงง หุหุ
5. การใช้บ้านเป็นสำนักงาน เจ้าของบ้านอาจจะมีเงินได้
อย่างที่นำเสนอข้างต้นว่า ใครใคร่ค้าช้างค้า ใครใคร่ค้าม้าค้า แต่ใครจะให้ใช้ฟรี คุณสรรพ์อาจจะหายอมไม่ เพราะจากคู่มือการจัดทำเอกสารประกอบการลงบัญชีตามมาตราบัญชีเล่มเดียวกำหหนดไว้ว่า การให้ใช้ทรัพย์สินเป็นสถานประกอบการโดยไม่คิดค่าเช่า อาจจะถูกประเมินรายได้จาการให้เช่าทรัพย์สินโดยไม่มีค่าตอบแทนได้
แปลง่ายๆ ว่า แม้จะให้ใช้ฟรี ไม่เก็บค่าเช่า ก็อาจจะถูกประเมินรายได้จากการให้เช่า เพื่อนำไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย 555
บริหารภาษีจากค่าเช่า อ่าน #กระจายรายได้ด้วยสิทธิเก็บกิน# Link https://goo.gl/Pukjrn
อ่านมาถึงตรงนี้ ฟันธงได้เลยว่าคิดค่าเช่าน่าจะสบายใจ และปลอดภัยกว่ากันเยอะ
ด้วยรัก
มือปราบภาษี
ติดตามบทความ สาระความรู้ด้านบัญชี ภาษี การเงิน หลักสูตรอบรมที่หลากหลาย และ application ช่วยในการทำธุรกิจที่โดนใจ ใช้ประโยชน์ได้จริงที่
- เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อแสดงความคิดเห็น
- 17717 reads