ผมมีเรื่องรบกวนขอเรียนปรึกษา เพื่อนผมมีบริษัทขายและบริการติดตั้งอุปกรณ์ และมีกำไรในระบบพอสมควร รบกวนถาม ว่าถ้าเราจะจัดตั้ง SME เพื่อลดภาระภาษีบริษัทเดิม คือจะตั้ง SME ขึ้นมา 2 - 3 บริษัท เพื่อรับงานต่อจากบริษัทที่มีอยู่ จะได้ใช้ประโยชน์จากภาษีของ SME พอจะทำได้ไหม มีข้อควรระมัดระวังยังไง
ผู้ถือหุ้นของ SME ใหม่นี้จะเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมในบริษัทเดิมได้ไหม หรือต้องหาผู้ถือหุ้นกลุ่มใหม่เลย ถ้าสามารถใช้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมได้ เราควรจะเอาบริษัทเดิมมาถือหุ้นในบริษัทใหม่นี้ดีไหม และควรถือที่สัดส่วนเท่าไหร่ดี ที่อยู่ของ SME ใหม่นี้ สามารถใช้ที่อยู่เดียวกับ บริษัทเดิมได้หรือไม่
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณล่วงหน้า
Thank you
TOM
เรียน K. TOM
การตั้งบริษัทย่อยๆ ขึ้นมาเพื่อรองรับการทำธุรกิจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง เช่นเพื่อต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการโดยแยกบริษัทด้านการผลิต, การขาย, การจัดการออกจากกัน เพื่อที่จะให้โครงสร้างการทำธุรกิจไม่ใหญ่โต จนการบริหารจัดการล่าช้า ฯลฯ
การตั้งบริษัทเพื่อบริหารภาษี ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ โดยหากบริษัทที่จัดตั้งเป็น SME’s ตามกฎหมายที่ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีก็ต้องถือว่ามีส่วนทำให้ประหยัดภาษีได้ เพราะจะได้รับสิทธิยกเว้น และลดหย่อนภาษีมากพอสมควร
เช่นหากเดิมบริษัทเสียภาษีในอัตรา 20% อยู่แล้ว การตั้งบริษัทเพื่อมารับงานจะทำให้ต้นทุนของบริษัทเดิมเพิ่มขึ้น และจะทำให้รายได้ และกำไรถูกโอนย้ายไปยังบริษัทใหม่ หากบริษัทใหม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี อย่างน้อยกำไร 300,000 บาทที่ถูกโอนไปยังบริษัทใหม่ก็ไม่ต้องเสียภาษี และยังคำนวณภาษีตามขั้นบันไดอีกถือว่าประหยัดได้ไม่น้อย
แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการให้ชัดเจนคือ การทำนิติกรรมทางการค้าระหว่างกันจะต้องมีการบันทึกบัญชี ออกเอกสารการค้าให้ครบถ้วน รวมถึงตัดบัญชีสินค้าคงเหลือ ซึ่งจะทำให้ปริมาณงานอาจจะเพิ่มขึ้นรวมถึง
1. ควรแยกพนักงานของแต่ละกิจการให้ชัดเจน
2. กรณีใช้สำนักงานร่วมกัน จะต้องแยกพื้นที่การทำงานของแต่ละบริษัทให้ชัดเจน
3. จัดสรรรายจ่ายที่แต่ละกิจการ ต้องรับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น ค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟฟ้า, ค่าโทรศัพท์ ฯลฯ
4. เรียกเก็บค่าใช้จ่ายระหว่างกันให้ครบถ้วนถูกต้อง
กรณีนี้คงต้องเปรียบเทียบภาษีที่คาดว่าจะประหยัดได้กับต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น และความยุ่งยากในการทำงานที่จะเพิ่มขึ้นประกอบการตัดสินใจดูนะ
แต่จากประสบการณ์จริง พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตอนวางแผนมักจะพูดตรงกันว่าทำได้หมด เวลาทำงานจริงๆ พนักงานมักจะเกิดความสับสนเพราะกลายเป็นว่าทำงานแบบเดียวกัน แต่ต้องแยกจัดทำเอกสารหลายบริษัท ลืมตัดสต็อก, ลืมเรียกเก็บเงินระหว่างกัน รวมถึงพนักงานก็มักจะเป็นคนเดียวกัน นั่งทำมันทุกบริษัทเป็นประเด็นให้ถูกประเมินย้อนหลังกันเรื่อยไป ย้ำตรงนี้ว่าทบทวนให้ดี ให้มั่นใจว่าทำได้จริงก่อนลงมือ
ส่วนกรณีเรื่องการถือหุ้น และการใช้สถานที่ตั้งทำงาน สรุปได้ดังนี้
1. ผู้ถิอหุ้นเดิมสามารถถือหุ้นในบริษัทใหม่ได้ ไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด
2. บริษัทเดิมมาถือหุ้นบริษัทใหม่ สามารถทำได้เช่นเดียวกัน สำหรับสัดส่วนการถือหุ้น ก็ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างกัน แต่หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีประกอบ บริษัทเดิมควรถือหุ้นบริษัทใหม่ไม่น้อยกว่า 25% จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทใหม่ มารวมคำนวณภาษีเงินได้
3. ที่ตั้งสำนักงานสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องการจัดสรรพื้นที่ ค่าใช้จ่ายระหว่างกันตามที่อธิบายข้างต้น
หวังว่าคำตอบจะเป็นประโยชน์
แนวทางข้างต้นเป็นเพียงข้อคิดเห็น เพื่อให้ท่านนำไปพิจารณาเปรียบเทียบข้อเท็จจริงทางธุรกิจ กฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนำไปปรับใช้ให้เหมาะสม
ลุยเลย
มือปราบภาษี
- เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน เพื่อแสดงความคิดเห็น
- 6862 reads